12339 จำนวนผู้เข้าชม |
แกว่งแขนวันละ 30 นาที ลดพุงลดโรค
คำว่า “สุขภาพดีไม่ได้มีไว้ซื้อขาย อยากได้ต้องทำเอง” ยังคงความหมายเป็นอย่างดี แม้จะผ่านหลายยุคสมัยมา เพราะปัจจุบันการตื่นตัวทางการออกกำลังกายกำลังพุ่งสูงขึ้น เห็นได้จากการจัดวิ่ง ปั่นจักรยาน หรือกิจกรรมออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ สะท้อนว่าผู้คนใส่ใจในสุขภาพ บวกกับแรงผลักดันที่อยากมีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง ดึงดูดและแต่งตัวได้งดงาม
แต่การออกกำลังกายสำหรับใครอีกหลายคนกลับเป็นเรื่องที่ต้องต่อกรกับเวลาและระบบของชีวิตประจำวัน บางคนอยากออกกำลังกายแต่เวลาไม่อำนวย หรือบางคนอยากหุ่นดีสุขภาพแข็งแรง แต่ก็ขี้เกียจเกินกว่าจะพาร่างกายออกไปพบความเหนื่อยล้า
อย่างไรก็ตาม วิถีการออกกำลังกายคงไม่ใช่แค่เพียงการมีพื้นที่อันกว้างขวางให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อน หรือมีอุปกรณ์ราคาที่ต้องซื้อหาเพื่อมาพยุงสุขภาพตนเอง “การแกว่งแขน” จึงเป็นทางออกที่หลายคนสามารถทำได้ง่ายๆ ทั้งที่บ้าน ห้องนอน หรือแม้แต่พื้นที่แคบต่างๆ ที่พอจะเหลือให้แขนทั้งสองข้างแกว่งไปมาวันละ 30 นาที
คนที่ยืนยันได้ว่าการแกว่งแขนก็มีประโยชน์ วัสคม นิลสุวรรณโฆษิต นักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านข้อไหล่โดยตรง ยืนยันได้ว่าการแกว่งแขนคือการออกกำลังกายที่ได้ประโยชน์ เรียกว่าทำง่าย ประโยชน์อื้อ หรือจิ๋วแต่แจ๋วนั่นเอง
“การแกว่งแขนจะช่วยหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นลดการสะสมของไขมัน ลดความดันโลหิตสูง ช่วยลดความเครียด ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ลดอาการปวดบ่า คอ และไหล่ จากการทำงาน แก้โรคออฟฟิศซินโดรม ลดน้ำตาลในเลือด ลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยชะลอการเสื่อมของเข่า ประโยชน์มากมายที่ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่แกว่งแขนก็สามารถทำให้ร่างกายของเราดีขึ้น” วัสคมยืนยัน
แต่ที่แจ๋วกว่าคือนอกเหนือจากด้านสุขภาพภายนอกแล้ว การแกว่งแขนยังช่วยรักษาโรคได้อีกด้วย โดยการแกว่งแขนจะช่วยให้ระบบน้ำเหลืองได้หมุนเวียนอย่างสะดวก โดยท่อน้ำเหลืองคือระบบที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยทำความสะอาดขจัดของเสียสารพิษในร่างกายและช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ง่ายๆ คือ การแกว่งแขนจึงเป็นเสมือนการออกกำลังกายที่ไม่ได้ใช้พละกำลัง แต่เป็นการขยับร่างกายเพื่อให้ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว แต่ได้ผลดีตรงที่สามารถทำให้ระบบการหมุนเวียนน้ำเหลืองในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น
การแกว่งแขนทำได้ง่ายก็จริง แต่ก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน เพราะหากแกว่งผิดท่าอาจทำให้ร่างกายบาดเจ็บ โดยวิธีที่ถูกต้องนั้น นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา แนะนำว่า ยืนตรง เท้าสองข้างแยกออกจากกันให้มีระยะห่างเท่ากับหัวไหล่ ปล่อยมือทั้งสองข้างลงตามธรรมชาติ อย่าเกร็ง จากนั้นจิกปลายนิ้วเท้ายึดเกาะพื้น ส้นเท้าออกแรงเหยียบขาลงพื้นให้แน่น ให้แรงจนกล้ามเนื้อโคนเท้า โคนขา และท้องตึงเป็นใช้ได้ หดท้องน้อยเข้า เอวตั้งตรง เหยียดหลัง ผ่อนคลายกระดูก ลำคอ ศีรษะและปาก ผ่อนคลายตามธรรมชาติ บั้นท้ายควรให้งอขึ้นเล็กน้อย ระหว่างบริหารต้องหดก้นหรือขมิบทวารหนัก คล้ายยกสูงให้หดเข้าไปในลำไส้
เริ่มแรกที่ทำกายบริหารควรทำตั้งแต่ 100-200 ครั้งก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น 100 ครั้งตามลำดับ จนกระทั่งถึง 1,000-2,000 ครั้ง ซึ่งจะใช้เวลาในการบริหารประมาณครั้งละ 30 นาที (แกว่ง 500 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 10 นาที) ทำเช่นนี้สัปดาห์ละ 5 ครั้ง